อาหารฉายรังสี

อาหารฉายรังสี หนึ่งในวิธีถนอมอาหาร

การฉายรังสีเป็นวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง    การฉายรังสีช่วยชะลอการเน่าเสียของอาหาร โดยทำลายจุลินทรีย์ที่ติดมากับอาหาร  การฉายรังสีอาหารคล้ายคลึงกับกระบวนการพาสเจอไรซ์นม  โดยที่ทั้งสองวิธีชลอการเน่าเสียโดยกำจัดจุลินทรีย์บางส่วนไป    จุลินทรีย์ที่เหลืออยู่ยังทำให้อาหารเน่าเสียได้ แต่ต้องใช้เวลานานกว่าอาหารที่ไม่ผ่านกรรมวิธีเลย ดังนั้นทั้งนมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์แล้วและอาหารฉายรังสีต้องเก็บในตู้เย็น  อาหารฉายรังสีไม่ผ่านความร้อนเหมือนอาหารกระป๋อง  คุณภาพและรสชาติของอาหารจึงไม่เปลี่ยนแปลงผักและผลไม้จึงดูสดเหมือนเก็บมาใหม่ๆ  

กระบวนการฉายรังสีอาหาร

การใช้รังสีฆ่าเชื้อโรคทำกันมานานแล้ว เช่นการฉายรังสีเครื่องไม้เครื่องมือทางแพทย์ ถุงมือ หรือด้ายเย็บแผล  ล้วนผ่านการฉายรังสีมาแล้วทั้งสิ้น ส่วนการฉายรังสีอาหารจะดำเนินการในห้องฉายรังสีที่ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เข้าไปในขณะที่อาหารกำลังถูกฉาย ผนังของห้องทำด้วยคอนกรีตหนาถึงหกฟุต เมื่ออาหารถูกเลื่อนส่งเข้ามาในห้อง ประตูปิดสนิทแล้ว แหล่งกำเนิดรังสี คือ โคบอลท์ – 60 ซึ่งปกติถูกเก็บไว้ในแท่งเหล็กใต้น้ำจึงจะเลื่อนขึ้นมาเหนือน้ำ ส่งรังสีแกมมาออกมา ถาดอาหารจะถูกหมุนไปมาจนได้รังสีทั่วถึงตามเวลาที่กำหนด แท่งโคบอลท์ก็จะถูกเลื่อนลงไปในน้ำตามเดิม รังสีหมดไปแล้ว ประตูห้องจึงเปิดออก อาหารถูกเลื่อนกลับออกไป ทุกอย่างใช้คอมพิวเตอร์บังคับ

ข้อกังวลเกี่ยวกับอาหารฉายรังสี

ผู้บริโภคบางคนกลัวว่าจะมีรังสีตกค้างอยู่ในอาหาร ซึ่งไม่เป็นความจริง ในขณะที่ผ่านการฉายรังสี ไม่มีส่วนใดของอาหารที่ถูกต้องกับสารกัมมันตรังสี เมื่อนำแหล่งกำเนิดรังสีออกไปแล้วจึงไม่มีอะไรเหลือตกค้างอยู่ เช่นเดียวกับกระเป๋าเดินทางที่ผ่านเครื่องเอกซเรย์ที่สนามบิน หรือเมื่อผ่านการเอกซเรย์ฟันหรือปอด ไม่ได้อะไรติดมาด้วย รังสีเกิดขึ้นเมื่อเครื่องเอกซเรย์ทำงาน เมื่อหยุดเครื่องรังสีก็หมดไป

การฉายรังสีฆ่าจุลินทรีย์ได้ ก็เพราะรังสีแกมมาทำให้สารเคมีเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือ ดีเอ็นเอ ในเซลล์ของจุลินทรีย์ถูกเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้เช่นเดิม  ดีเอ็นเอ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตเมื่อเปลี่ยนไปทำให้เซลล์ของจุลินทรีย์ เชื้อรา หรือแมลงตาย ผู้บริโภคบางคนกลัวว่า การฉายรังสีจะทำให้เกิดสารเคมีใหม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งหรือทำให้ทารกเกิดมาอย่างมีอาการผิดปกติ จากงานวิจัยกับสัตว์ทดลองเป็นเวลาสามสิบกว่าปี ไม่พบสารเคมีในอาหารฉายรังสีที่เป็นอันตรายเช่นนั้น ถึงกระนั้นก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยคิดว่า อาจจะมีสารเคมีที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นบ้าง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องวัดที่มีประสิทธิภาพพอที่จะตรวจพบได้

คงจะต้องรอดูไปอีกนานจึงรู้ว่าผู้บริโภคจะยอมรับอาหารฉายรังสีเพียงใด สำหรับผู้บริโภคที่เกรงว่า  อาหารฉายรังสีจะมีอันตราย  มีโอกาสเลือกสามารถหลีกเลี่ยงไม่บริโภคอาหารที่ผ่านการฉายรังสีได้โดยสังเกตที่ฉลาก  ซึ่งตกลงกันแล้วเป็นสากลว่า อาหารที่ผ่านการฉายรังสีจะต้องติดตราบอกให้รู้เหมือนกันทั่วโลก ผู้บริโภคตัดสินใจเอาเองว่าจะซื้อมากินหรือหลีกเลี่ยง จนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย 

เครดิตภาพจาก wikipedia.org

#อาหารฉายรังสี #การดูแลตัวเอง #การดูแลสุขภาพ

Our Partner