โรคอ้วนอันตรายมากกว่าที่คิด

โรคอ้วนอันตรายมากกว่าที่คิด

โรคอ้วน” เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติ จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนมาจาก 2 ลักษณะคือ โรคทางกายหรือกลุ่มอาการทางพันธุกรรมที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วย โดยกลุ่มนี้มักมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ รวมถึงโรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต หรือขาดไทรอยด์ฮอร์โมน  อีกสาเหตุคือ โรคอ้วนธรรมดา เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เมื่อพลังงานที่เข้ามากกว่าที่ใช้ออก ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย

ผลเสียของโรคอ้วนในเด็กและผู้สูงวัย

ในเด็ก โรคอ้วนส่งผลต่อกระดูกและข้อ เมื่อข้อรับน้ำหนักมากนาน ๆ ทำให้มีขาโก่งในวัยเด็ก และหัวกระดูกสะโพกเลื่อนในวัยรุ่นได้   ผลต่อทางเดินหายใจ มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เด็กนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้เด็กง่วง หลับในห้องเรียน มีผลต่อการเรียนได้  ผลต่อทางเดินอาหารและตับ พบโรคนิ่วในถุงน้ำดี ภาวะไขมันสะสมที่ตับ นำไปสู่โรคตับอักเสบ ตับแข็ง และตับวายได้ ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ มีภาวะต่อต้านอินซูลินนำไปสู่เบาหวานชนิดที่ 2 โดยในเด็กอ้วนอาจพบผื่นสีน้ำตาลดำนูนหนาที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ ซึ่งพบร่วมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

สำหรับผู้สูงวัยและมีน้ำหนักตัวเกิน หรืออยู่ในภาวะโรคอ้วนก็จะทำให้แรงต้านทานของเส้นเลือดที่อยู่ในร่างกายสูงขึ้นส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง   ส่วนใหญ่มากกว่า 90% ของคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 2-3 ปีแรกมักจะไม่มีอาการ เพราะฉะนั้นในช่วง 2-3 ปีแรกอาจจะกำลังอยู่ในภาวะโรคความดันโลหิตสูงโดยที่เราไม่ทราบมาก่อน แต่เมื่อความดันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือมีภาวะแทรกซ้อน จึงเริ่มมีอาการ เช่น เริ่มปวดศีรษะบ่อยๆ เวียนศีรษะบ่อยๆ   นอกจากนี้โรคความดันโลหิตสูงยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อเส้นเลือด เพราะฉะนั้นทุกส่วนในร่างกายที่เส้นเลือดไปถึงก็สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงได้ เช่น เส้นเลือดในสมองมีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบและเส้นเลือดแตก หรือที่หลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีภาวะหัวใจโต มีภาวะของโรคไต หรือภาวะของเส้นเลือดที่แขนขาเกิดการแข็งตัวมากขึ้น

แนวทางการรักษาโรคอ้วนและผลพวง

เมื่อเด็กอ้วน ควรมาพบแพทย์ เพื่อประเมินความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน และพิจารณาเจาะเลือดเพิ่มเติมเมื่อมีข้อบ่งชี้  เป้าหมาย เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้คงเดิม หรือลดลงโดยมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นตามปกติ และป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยขึ้นกับอายุของเด็กและความรุนแรงโรคอ้วน  จากนั้นจึงปรับพฤติกรรมการกิน โดยกินอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณพอดี ลดอาหารพลังงานสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว น้ำหวาน เลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ไขมันสูง เพิ่มการกินผักและผลไม้ และในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปให้กินนมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนยแทน  รวมทั้งปรับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น เดินแทนนั่งรถ ทำงานบ้านเอง ออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น ลดเวลาหน้าจอโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ ให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน 

ในผู้สูงวัยที่เป็นโรคอ้วนร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง  จำเป็นต้องลดน้ำหนัก  พร้อมกับรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูง  โดยวิธีการรักษามีทั้งใช้ยาและไม่ใช้ยา เริ่มต้นจากการไม่ใช้ยาก่อน คือพยายามอย่าเครียด ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เรื่องการรับประทานอาหารไม่ควรรับประทานส่วนที่มีเกลือผสมมากจนเกินไป  ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ หากว่าวิธีการเหล่านี้ลองแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือไม่ได้ผล แพทย์จะเริ่มรักษาด้วยวิธีการใช้ยา

โรคอ้วนสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  ในเด็กที่เป็นโรคอ้วนมักได้รับผลกระทบทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในสังคมทั้งปัจจุบันและอนาคต  ขณะที่ผู้สูงวัยที่เป็นโรคอ้วนมักพบโรคความดันโลหิตสูงควบคู่ไปด้วย  การดูแลสุขภาพและควบคุมน้ำหนักจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดโรคอ้วนและผลสืบเนื่องจากความอ้วนที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามปกติ

เครดิตภาพจาก pixabay.com

#การดูแลตัวเอง #หุ่นดีง่ายๆ #โรคอ้วนอันตราย

Our Partner